วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2551

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง : ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย


เป็นเรื่องจริงที่ต้องทำใจยอมรับ สำหรับ "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" อดีตนักอุตสาหกรรมที่หลายคนเคยเรียกเขาว่า "เจ้าพ่อวงการเหล็ก " ที่เคยติด 1 ใน 500 มหาเศรษฐีระดับโลก จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ แต่นับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อสิบปีก่อน ถึงวันนี้สิ่งที่คนส่วนใหญ่จดจำเขาได้ดี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเขาไปแล้ว คือ วลีสั้นๆที่ว่า "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ที่เข้ามาแทน พร้อมกับการปิดฉากนักอุตสาหกรรมเหล็กที่เขาสร้างมากับมืออย่างสิ้นเชิง

ไม่ว่าจะเป็น เอ็นทีเอส สตีล จากภาระหนี้เกือบ 17,000 ล้านบาท จนต้องขายกิจการและถูกนำไปควบรวมกับบริษัทเหล็กในเครือ ปูนซิเมนต์ไทย และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มิลเลนเนียม สตีล เพียงแต่สวัสดิ์ ยังรับจ้างบริหารต่อในตำแหน่งซีอีโอ จนกระทั่งในปี 2549 บริษัท ทาทา สตีล จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากอินเดีย เข้ามาซื้อกิจการและเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่ นครไทย สตริปมิลล์ ที่มีหนี้กว่า 21,500 ล้านบาท ได้ บริษัท จี สตีลฯ ของนายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล โดยบริษัท โอเรียลทัล แอ็กเซสฯ เข้ามาซื้อหนี้ไปทั้งหมดในปี 2549 ที่ยังเหลือเป็นความภาคภูมิใจ คือ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ที่เขาร่วมก่อตั้งและนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ธุรกิจเดียวที่ปลอดหนี้จากวิกฤติ 2540 และวันนี้วางแผนลงทุนอีกกว่า 3,000 ล้านบาท ขยายเครือข่ายธุรกิจให้มั่นคงและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น "ตายครั้งเดียวพอแล้ว" สวัสดิ์ย้ำ และเปรียบเปรย ว่า "from here to eternity จากที่นี้ชั่วนิรันดร มึงอย่าเกิดขึ้นกับกูอีก เพียงพอแล้ว" และยังอธิบายว่า "สิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ วันนี้เอาเป็นครูได้" และยังทำให้การทำงานในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ และวิธีการลงทุนของทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้เปลี่ยนไป รวมทั้งตัวเขาเอง ก็ได้ข้อคิดใหม่ว่า "วันนี้ ไปไหนต้องมีเพื่อน ที่เป็น strategic alliance และมี know how เข้ามาร่วมกับ know who ของเรา" เพราะวันนี้ไปไหนถ้าไม่รู้จักใครทำธุรกิจยาก ซึ่ง know who ในที่นี้ไม่ใช่การคอร์รัปชันแต่เป็นคอนเนกชัน และทางที่จะเดินได้เร็วขึ้นหรือ cut short

สวัสดิ์ ยอมรับว่า "เครดิตส่วนตัวในวันนี้ ไม่ดีหรอก แต่ว่า ผมไม่แคร์เท่าไหร่ และมั่นใจว่า ถ้าโครงการที่ทำนั้นดี content ดีผมขายได้แน่โอเค แต่ก็ไม่ใช่ให้นายสวัสดิ์ อย่างเดียว แต่ให้กับบริษัท ซึ่งต้องดูว่า บริษัทนี้มีผลการดำเนินงาน ดีไหม TOR ที่จะออกจากรัฐบาลยุติธรรมไหม และถ้าผมทำก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมลงทุนในประเทศนั้น"

สวัสดิ์ ยังยอมรับอีกว่า "ก้าวมาถึงวันนี้ เป็นทั้งจุดเปลี่ยนและก้าวใหม่ เพราะโลกเปลี่ยนไป แต่ความเป็นนักฝันของผมยังคงอยู่" และยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความฝันนั้นให้เป็นจริง

โดยย้อนอดีตให้ฟังว่า เรียนหนังสือแค่มัธยม 6 จบมาแบบเส้นยาแดงผ่าแปดเพราะครูช่วย จะไปหางานโรงแรม 4-5 ดาวทำก็ไม่ได้เพราะเรียนมาน้อย สุดท้ายก็ได้ช่วยงานโรงเหล็กของครอบครัว อ่าน เขียน และพูดภาษาอังกฤษได้เพราะต้องส่ง telex ติดต่อธุรกิจสั่งของกับต่างประเทศ ช่วงรอรับ telex ก็ไปเที่ยวไนต์คลับรอเพราะเวลาต่างกัน 12 ชั่วโมงจนเต้นรำเก่ง "คุณจะหาคนจบม. 6 แรดอย่างผมมีสักกี่คน"

ความเป็นนักฝันของสวัสดิ์ทำให้เขาทำอะไรแปลกกว่าคนอื่นๆ บ่อยครั้ง "มีผมคนเดียวในประเทศไทย ที่ซื้อรีสอร์ตโรงแรม แล้วรื้อทิ้ง สร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะผมรู้ว่าตรงนั้นเป็นทะเลที่น้ำลึกที่สุดโดยธรรมชาติ และผมเชื่อว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด คือ gate way ของประเทศไทย" หรือไปลงทุนซื้อที่ไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด ไร่อ้อย มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้กลายเป็น Detroit of the East

สวัสดิ์ ทำงานหนักจนเพื่อนฝูงตั้งฉายาให้ว่า "บิ๊กอึ้ด" ทั้งที่จริงๆแล้วเขายืนยันว่า ไม่ได้เน้นการบริหารงานแบบ "วันแมนโชว์" แต่เป็นเพราะพรรคพวกที่ร่วมกันก่อตั้งเหมราช ร่วมกันทั้ง 3 คน รวมกันแล้วยังไม่จบปริญญาตรี แต่บังเอิญตัวเขาเป็นคนเดียวที่ตามทันโลก และพูดภาษาอินเตอร์ได้จึงได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ

เช่นเดียวกับการมองปัญหาที่สวัสดิ์บอกว่า"ปัญหามันมาทุกชั่วโมง แก้อันนี้จบ อันใหม่ก็มา เพราะฉะนั้นปัญหามีไว้แก้" ซึ่งไม่ต่างกับเวลาเครียดที่เขาบอกว่า เครียดไม่กี่วัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป "ผมอาจจะมีบุญที่ช่วงเวลาแบบนี้ ผมไม่ลืมกำพืดผมไง อย่างที่บอกผมจบม. 6 และในสมัยเด็ก รอบตัวผม แวดล้อมไปด้วย ภาษาจีนเขาเรียกว่า "เนีย ซัว เปาะ" หรือดงนักเลงเพราะบ้านผมอยู่ใกล้วัดพระพิเรนทร์หลังกองปราบ มันจึงหล่อหลอมเรา และอีกอย่าง ผมเป็นนักสู้มาตั้งแต่เด็ก แต่เราตัวเล็กสู้ไม่ชนะก็ต้องใช้หัวเอาชนะ"

เมื่อถามถึงฝันและสิ่งท้าทายในวันนี้ของสวัสดิ์ในวัย 66 ปี เขากล่าวว่า นอกจากสร้างเหมราชเป็นบริษัทที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนและก้าวออกไปสู่สมรภูมิการแข่งขันในต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการในลิเบียแล้ว ยังอยากฝากให้รัฐบาล ผลักดันระบบขนส่งทางบก หรือโครงการ Inland Transportation ทั้งประเทศและสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับระบบขนส่งในกรุงเทพฯ ที่ รัฐบาลลงเงินไป 1.7 แสนล้านบาท จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของที่ดินในกรุงเทพฯ ให้ได้สูงสุดด้วย วิธีทำก็คือจะต้องออกกฎหมายสิทธิครอบงำ เหมือนอย่างที่ทำในสหรัฐอเมริกา โดยยึดพื้นฐานประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

แม้โครงการนี้จะศึกษาเบื้องต้นมา 25 ปี และได้นำเสนอ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมาหลายสมัยแล้ว และยังไม่รู้ว่าจะเกิดได้เมื่อไหร่ แต่สวัสดิ์ก็ยังมุ่งมั่น "โครงการนี้ถือเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ ถ้ายังไม่เกิดก็ยังตายไม่ได้"

แม้วันนี้คนส่วนใหญ่จะรู้จักไลฟ์สไตล์ของสวัสดิ์ในฐานะ Chief Entertainment Officer แต่ในอดีตของ "บิ๊กอึ้ด" คนนี้เคยเป็นนักฟุตบอล "ทีมดำรงสถิตย์" ค่ายสะพานเหล็ก ที่เคยเข้าชิงแชมป์ฟุตบอลเทศบาลภาคประชาชน เจ้าของฉายา "ปีกขวา มหาภัย " หรือ จอร์จ เบส เมืองไทย วันหนึ่งก้าวมาเป็นนักธุรกิจแถวหน้าแบบเคยรุ่งสุดๆ และเคยตกต่ำสุดๆ แต่ไม่เคยเล่นกอล์ฟ "กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่ดี เพียงแต่ว่าโดยบุคลิกและธรรมชาติ ผมไม่เหมาะกับกอล์ฟก็เลยไม่คิดเล่น" แต่สิ่งที่ผมรักมากที่สุด คือ ผมเป็นคนรักรถ ในชีวิตผมเคยซื้อรถใหม่เอี่ยมครั้งเดียว คือ Land Rover ที่เหลือในชีวิตผมซื้อรถ Classic มาตลอดระยะ 30-40 ปี"

รวมกันแล้วกว่า 100 คัน ที่สำคัญยังสวยและวิ่งได้ทุกคัน รุ่นเก่าสุด คือ Morris ปี 2493 และวันนี้ยังวิ่งใช้งานได้ทุกคัน ใช้งาน 4-5 คัน ต่อวัน บางวันขับรถเปิดประทุน แต่คนนั่งข้างแทนที่จะเป็นสาวสวยกลับเป็นคนขับที่คอยขับกลับและนำคันใหม่มาเปลี่ยน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2315 20 เม.ย. - 23 เม.ย. 2551

ไม่มีความคิดเห็น: