วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2551

ผิน คิ้วคชา : บนกองหนี้ 4.2 พันล้านบาท


ตลอด 20 ปี ที่ "ผิน คิ้วคชา" สร้างฝันอันยิ่งใหญ่ให้ "ซาฟารีเวิลด์" และ "ภูเก็ตแฟนตาซี" ผิน กลับพบแต่เส้นทางวิบากตลอดทางที่ก้าวเดิน "อุต-ส่าห์-หา-กรรม" คำสรุปสั้นๆ และชัดเจนในความหมาย

"เจ้าพ่อซาฟารี" จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร ภายใต้ฝัน..ไม่เกิน 5 ปี จะประกาศความเป็นไท "ล้างหนี้" ให้สิ้นซาก

ผิน คิ้วคชา ในวัย 65 ปี เปิดบ้านรับการมาเยือนของผู้สื่อข่าวกลุ่มเล็กๆ ที่อยากพบปะพูดคุยด้วย เพราะเจ้าสำนักแห่งนี้เก็บตัวอย่างเงียบเชียบ นับตั้งแต่ผินนั่งทับ "กองหนี้" ก้อนมหึมา และถูกเจ้าหนี้ส่ง Notice มาถึงประตูบ้านเป็นระยะๆ เขากลับสงบนิ่ง และเลือกที่จะเป็นข่าวน้อยลง ภายใต้อาณาจักรที่มี "นก" บินว่อนเหนือท้องฟ้า..ซาฟารีเวิลด์ ผินซุกซ่อนกายอยู่ในห้องทำงานขนาดใหญ่..ทั้งฟลอร์ ที่อัดแน่นไปด้วยตำรับตำราภาษาจีน ไทย และอังกฤษ มากกว่า 1,000 เล่ม เขาซุ่มเขียนโปรเจคใหญ่ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เพื่อนำไปเสนอ "นายทุน" จากประเทศจีน หลังจาก "พลาดท่า" เกือบได้ทำโครงการซาฟารี บนเกาะลังกาวี แต่เผอิญ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผู้ที่เล็งเห็นความสามารถพิเศษในตัวผิน หมดอำนาจลงเสียก่อน


สำหรับโครงการในประเทศจีน ผินหยิบ Proposal ภาษาอังกฤษเล่มหนาขนาดหลายร้อยหน้า เตรียมนำไปเสนอนายทุนจากประเทศจีน เขาบอกว่า อย่าเพิ่งพูดไป โครงการนี้มีความไม่แน่นอนสูง การทำธุรกิจในเมืองจีนเป็น "งานหิน" ปัญหาใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่ "เงินทุน" แต่เป็น "คอนเนคชั่น" กับหน่วยงานรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น


ผิน ทำมือเหมือนการ "โยนเงิน" ไปที่บุคคลหลายคน แล้วบอกว่าถ้าทุกคนโอเคหมด แค่คุณคนเดียวไม่โอเคด้วย "เกมโอเวอร์" การทำธุรกิจที่เมืองจีนเป็นอย่างนี้จริงๆ


ซาฟารีเวิลด์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531 จากทุ่งนาอันกว้างใหญ่ไพศาลบนเนื้อที่ประมาณ 1,650 ไร่ บริเวณติดกับถนนปัญญาอินทรา เขตคลองสามวา หลังจากนั้น 10 ปี ผินได้ขยายอาณาจักรไปเปิด ภูเก็ตแฟนตาซี ติดกับหาดกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต บนเนื้อที่ประมาณ 282 ไร่ ปัจจุบันเฉพาะมูลค่าที่ดินทั้ง 2 ผืนก็ "มากพอ" ที่จะล้างหนี้ได้หมดสิ้น
จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินซาฟารีเวิลด์ และภูเก็ตแฟนตาซี ในงบการเงินปี 2550 มีมูลค่ารวม 6,129 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคาสะสม 3,070 ล้านบาท จะเหลือมูลค่าสุทธิตามบัญชี 3,040 ล้านบาท


กองหนี้ของผิน ณ สิ้นปี 2550 ซาฟารีเวิลด์แจ้งสินทรัพย์รวม 3,812 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,216 ล้านบาท มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 404 ล้านบาท และในก้อนหนี้มหึมา เป็นเงินกู้ระยะยาวและดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เจ้าหนี้สามารถเรียกคืนได้ทันทีเมื่อต้องการ จำนวน 2,628 ล้านบาท
เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของผิน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องซาฟารีเวิลด์ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 ข้อหาผิดสัญญากู้ยืมมูลหนี้ประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการเจรจากันมาเป็นระยะเวลากว่า 9 ปีแล้ว แต่ผินก็ยังไม่สามารถทำตามเงื่อนไขการชำระหนี้ได้
นอกจากนี้ ซาฟารีเวิลด์ยังมีหนี้ค้างชำระอยู่กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ซึ่งเคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับผินไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545


ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เคยระบุว่า ซาฟารีเวิลด์ และภูเก็ตแฟนตาซีลงทุนด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่สูงเกินไป ซึ่งไม่ตรงกับสถานการณ์จริง โดยเฉพาะภูเก็ตแฟนตาซีที่ลงทุนในช่วงที่ 2540-2541 ด้วยงบประมาณลงทุนสูงถึง 3,500 ล้านบาท


7,300 วัน หรือ 20 ปี ผินคิดอย่างไรกับภาระหนี้ที่กลายเป็น "ตุ้มถ่วง" ฐานะทางการเงินมาตลอด
เจ้าพ่อซาฟารี บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ซาฟารีเวิลด์ มีหนี้สินพะรุงพะรัง เป็นเหตุการณ์เรื้อรังมาตั้งแต่เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน เรื่อยมาถึงเหตุการณ์ทางการเมือง และภัยธรรมชาติ
"ในรอบ 10 ปี (2541-2550) ผมนับวิกฤติทั้งเล็ก และใหญ่ ได้ทั้งหมด 17 ครั้ง (เช่น ซาร์ส, ไข้หวัดนก, สึนามิ, หมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย, ปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ) ล้วนกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว สึนามิเหตุการณ์เดียวเราทรุดไป 3 ปี เพิ่งจะมาฟื้นได้เมื่อต้นปีนี้เอง"
ผินมั่นใจว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้ ครอบครัวคิ้วคชาจะเหลือเงินสดๆ ในกระเป๋าเยอะแยะมีมากกว่า 1,000 ล้านบาท แน่ๆ ก่อนจะพูดเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีพร้อมเสียงหัวเราะว่า "คนมีเงินเยอะ..เรื่องถึงเยอะ ไม่มีเงิน..ก็ไม่มีเรื่อง"


สำหรับเรื่องภาระหนี้สิน ผินใช้ลีลาอดีตเจ้าของ บง.เฟิสท์ทรัสต์ (ถูกปิดกิจการเมื่อปี 2527 ในโครงการทรัสต์ 4 เมษา) ที่ประวิงเวลามาโดยตลอด เขาบอกว่า ถ้าคิดจะขายที่ดินใช้หนี้ ปีเดียวก็ล้างหนี้เกลี้ยงแล้ว หนี้ที่เห็นในบัญชี 4,216 ล้านบาท จริงๆ แล้วมีหนี้เพียง 2 พันกว่าล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็น "ดอกเบี้ยค้างจ่าย" ที่เจ้าหนี้(พร้อมจะ)แฮร์คัตให้ แต่สินทรัพย์ 2 แห่งรวมกันเรามีตั้ง 5,000-6,000 ล้านบาท ไม่ต้องห่วง
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ซาฟารีเวิลด์ยังขาดทุน มีเพียง 2 ตัว คือ "ดอกเบี้ยจ่าย" และ "ค่าเสื่อมราคา"


ผินเผยว่า ทุกวันนี้ซาฟารีเวิลด์ต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละกว่า 20 ล้านบาท (ปี 2550 บันทึก 223 ล้านบาท) กับค่าเสื่อมราคา อีกปีละเกือบ 300 ล้านบาท (เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี) ถ้าจะให้กำไรต้องแก้ตรงจุดนี้กิจการถึงจะไปได้ คือ ต้องเพิ่มทุนนำเงินไปลดหนี้ (รวมทั้งแฮร์คัตหนี้) แต่การเพิ่มทุนต้องรอเวลาที่เหมาะสม อาจจะเป็นปีนี้ หรือปีหน้า


"การเพิ่มทุนต้องใจเย็นๆ ถ้ามันยังไม่ถึงเวลาคุณอย่ารีบร้อน ตอนนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ เขาก็ดี..เอ็นดูเรา ผมอยู่ในธุรกิจไฟแนนซ์มา 18 ปี "ทำเป็น" ว่าจะแก้หนี้อย่างไร ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา..อย่าใจร้อน"


ทางด้านหุ้น SAFARI ที่ถูกห้ามซื้อขาย (ติด SP) มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผินบอกว่า แก้ปัญหา (เพิ่มทุน) จบเมื่อไร ก็ออกเมื่อนั้น นอกจากนี้ในโครงสร้างผู้ถือหุ้น SAFARI ยังปรากฏรายชื่อ ทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้นอันดับหนึ่ง สัดส่วน 9.50% ณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้น 3.15% หทัยรัตน์ จุฬางกูร (แม่ของทวีฉัตร-ณัฐพล) ถือหุ้น 1.60% และโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้น 0.54%
ผินบอกว่า ตระกูลจุฬางกูรเป็นญาติ(พี่น้อง)กับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้น SAFARI มานานแล้ว เขาถือรวมกันประมาณ 18% ส่วนครอบครัวคิ้วคชาถือหุ้นอยู่ 50% ที่ผ่านมาก็ได้คุยกันเป็นประจำ


"เขามาซื้อหุ้นผม..เศษตังค์ของเขาหรอก ตระกูลนี้เขารวย(มาก) เขามาเดินเที่ยวที่นี่เป็นประจำ"


ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมครอบครัวคิ้วคชาไม่คิดขายที่ดินใช้หนี้ให้รู้แล้วรู้รอด หรือ แปรสภาพที่ดินไปทำหมู่บ้านจัดสรร หรือทำคอนโดมิเนียมซะเลย..
"ความคิดจะขายซาฟารีเวิลด์ หรือภูเก็ตแฟนตาซี เอาเงินไปใช้หนี้ "ไม่มีในหัวสมอง" ผมทำเพราะรู้สึกรักธุรกิจนี้ มีความสุข เราสร้างความสุขให้ผู้อื่น วันนี้ซาฟารีเวิลด์เปิดมาครบ 20 ปี เหมือนยกเขาใหญ่มาอยู่ในกรุงเทพ บรรยากาศแบบนี้หาไม่มีอีกแล้ว นับวันธรรมชาติยิ่งเพิ่มคุณค่า ถ้าเอาไปสร้างคอนโดมิเนียม ทำบ้านจัดสรร ได้เงินแล้วของพวกนี้ก็หมดไป ผมจะสร้างความดีไว้ประดับแผ่นดิน" นี่คือ คำตอบ


ผินยังบ่นดังๆ ไปถึงรัฐบาล และผู้ที่รับผิดชอบการท่องเที่ยวของประเทศว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ 20 ปีต้องต่อสู้เพียงลำพัง ยังเป็นภาระหนักและจะสู้ต่อไป ที่จริงธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ในหลายประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์ รัฐบาลเขาเข้ามาส่งเสริม ประเทศไทยขายเมืองท่องเที่ยวจนโด่งดังไปทั่วโลก แต่คุณจะขายแหล่งท่องเที่ยวเก่าๆ เป็นสิบๆ ปี ไม่ได้ รัฐบาลควรมีเมกะโปรเจคทางด้านท่องเที่ยว เหมือนดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) หรือ ธีมพาร์คสวนสนุกของบริษัทหนังยูนิเวอร์แซล...สำหรับผิน "มีไอเดีย" แต่ "ไม่มีเงิน" ถ้ารัฐบาลลงทุน จะ "อาสา" ช่วยเต็มที่


บนทางธุรกิจที่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง ผิน รำพึงในสคริปต์ซาฟารีเวิลด์ไนท์ ฉลองครบรอบ 20 ปีว่า ธุรกิจท่องเที่ยวลงทุนสูงแต่คืนทุนช้า บางท่านบอกว่าเป็นธุรกิจ "อุต-ส่าห์-หา-กรรม" ธุรกิจนี้สร้างความสุขให้ผู้อื่น แต่ตัวเองต้องรับทุกข์ คนอื่นท่องเที่ยว แต่คนทำท้องเหี่ยว ทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจที่ก่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติมากมาย


สถานการณ์วันนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรมา "ช็อก" อีก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผินบอกว่า นับจากต้นปี 2551 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนก่อนเกิดสึนามิ เขายกตัวอย่างภูเก็ตแฟนตาซี มีนักท่องเที่ยวยุโรป (โดยเฉพาะรัสเซีย-ออสเตรเลีย) มาเที่ยว 60-70% พวกนี้กำลังซื้อดีมาก 1 คนเท่ากับนักท่องเที่ยวเอเชีย 2 คน ปีที่แล้วคิดอัตราค่าเข้าชม+บุฟเฟ่ต์ 1,600 บาท/หัว ตอนนี้ขยับราคาขึ้นไป 1,900 บาท/หัว แล้ว


ภูเก็ตแฟนตาซีเป็นความหวังที่ผินหมายมั่นมากที่สุดว่า จะทำให้สถานการณ์ของบริษัทแม่ซาฟารีเวิลด์ดีขึ้น


"ใครที่เคยไปเที่ยวภูเก็ตแฟนตาซีนานแล้ว คุณต้องไปเที่ยวใหม่ รับรองจำของเดิมไม่ได้ ตอนนี้น่าเที่ยวมาก" ผินคุย พร้อมทั้งชื่นชม กิตติกร คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ภูเก็ตแฟนตาซี ลูกชายคนที่สอง "เก่งกว่าพ่อ 95% เขาเป็นคนคิด"


ในปี 2550 ที่ผ่านมาซาฟารีเวิลด์มีรายได้รวม 1,148 ล้านบาท (มาจากซาฟารีเวิลด์ 438 ล้านบาท และภูเก็ตแฟนตาซี 758 ล้านบาท) บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 333 ล้านบาท เจ้าพ่อซาฟารีเวิลด์ กล่าวว่า ปีนี้ ตั้งเป้ารายได้รวม 1,500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% ถ้าเพิ่มทุนสำเร็จถึงจะเริ่มมีกำไร


ผินยังเปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยคุยกับนักลงทุนจีนแล้วกว่า 10 ราย บางเจ้าอยากเชิญไปช่วยออกแบบ หรือไปช่วยบริหาร เพราะ 10 กว่าปีมานี้ที่ประเทศจีนมีซาฟารีเปิดมากถึง 60 กว่าแห่ง แต่มีกำไรไม่ถึง 5% เห็นว่าเรามีประสบการณ์ และโนว์ฮาวพร้อม อย่างที่หังโจวก็แอบมาก๊อบปี้ไอเดียจากเรา ขณะที่ภูเก็ตแฟนตาซี ผินคุยว่า ความยิ่งใหญ่อาจไม่ถึงขั้นดิสนีย์แลนด์ แต่ระบบบริหารถึงขั้นระดับโลกแล้ว


"ก่อนจะทำซาฟารี ผมพาลูกน้องกว่า 10 คน ไปดูงานทั่วโลกเดือนกว่า ตระเวนดูสวนสนุก 200 กว่าแห่งทั่วโลก ไม่ได้ไปดูว่าเขาทำอย่างไรถึงสำเร็จ สิ่งที่ดูก่อน คือ เขาเจ๊งเพราะอะไร เพราะธุรกิจนี้มีไม่ถึง 5% ที่สำเร็จ ผมเสียเงินไป 10 กว่าล้าน ถ่ายรูปมา 4 หมื่นกว่าใบ ได้หลักคิดมาแค่ 3 ข้อ คือ หนึ่ง..ไม่มีคุณภาพ สอง..บริหารไม่ดี และสาม..จับจ่ายใช้สอยไม่เหมาะสม"
ทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ..ผินไม่ยอมอธิบายต่อ เขาอ้ำๆ อึ้งๆ อยู่ครู่หนึ่งก่อนจะซ่อนคมแล้วบอกว่า ถ้าผมพูดไปคู่แข่งต้องรู้ และเอาเคล็ดลับเราไปใช้แน่นอน


ความฝันอันยิ่งใหญ่ของผินก่อนอายุครบ 70 ปี หรือภายใน 5 ปีนี้ จะต้องล้างหนี้สินก้อนใหญ่ของซาฟารีเวิลด์ให้สิ้นซาก ก่อนจะถ่ายโอนกิจการไปให้กับลูกๆ ทั้ง 9 คน
"ถ้ามีโปรเจคใหญ่เพิ่มเติม เราคิดว่าจะโตได้ปีละ 30% ความหวัง คือ ถ้าเรามีรายได้ถึงปีละ 2,000 ล้านบาท เรากำไรปีละ 1,000 ล้านบาทได้สบาย เพราะถ้าเพิ่มทุนเสร็จแก้หนี้จบ รายได้ 800 กว่าล้านบาทก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ถ้ารายได้เลยต้นทุน ส่วนที่เกินกำไรหมด"
แม้อายุจะผ่านวัยอันพลบค่ำมาแล้ว แต่พันธกิจของ ผิน คิ้วคชา ยังไม่สิ้นสุด คือ อุทิศความสุข สร้างความสนุกสนานให้แก่ทุกคนที่มาเยือน แม้เขาจะ "อุต-ส่าห์-หา-กรรม" บนเส้นทางวิบากมาตลอด 20 ปี


--------------------------------------


2 เมีย ลูก 9 คน กับวิธีคิดที่แตกต่าง
ผินมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ธุรกิจก็เหมือนชีวิตคนที่จะต้องมีเจ็บป่วย และอุปสรรค แล้วเราจะเป็นทุกข์ไปทำไม นี่คือสัจธรรมการดำรงอยู่ของทุกสรรพสิ่ง เรื่องหนี้สินแม้จะมีมากแต่ไม่ได้กังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ รอภาวะเศรษฐกิจฟื้น เพิ่มทุนได้ ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไปได้ ผินเชื่อเช่นนั้น


เขาเปรียบว่า ธุรกิจของซาฟารีเวิลด์เหมือนคนที่เจ็บป่วย ก็ต้องกินยา หรือไปหาหมอผ่าตัด จะมานั่งร้องไห้เอาความทุกข์มาใส่ตัวก็ไม่มีประโยชน์ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา..ก็อย่ารีบร้อน
"ผมทำซาฟารีเวิลด์มา 23 ปี แต่เปิดมาครบ 20 ปี ไม่เคยมีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ตรุษจีน ปีใหม่ ทำงานทุกวัน และรักที่จะทำ เพราะฉะนั้นการทำงานจึงเป็นการพักผ่อนไม่เหนื่อย..ชีวิตผมไม่เคยมีคำว่าดีใจที่สุด เสียใจที่สุด ได้เงินเยอะๆ ก็เฉย ไม่ตื่นเต้น มีหนี้เป็นพันล้านก็เฉย ปล่อยวางได้ แต่ไม่ว่างเปล่า คือ ทำใจได้ นอนหลับทุกวัน"


ผินเล่าพร้อมอธิบายด้วยการยกมือขึ้นมาจ่อที่หน้าผากตัวเอง แล้วบอกว่า ความทุกข์มันวิ่งมาหาเราอย่าให้มันวิ่งเข้าหัวสมอง ในใจจะคิดว่า ทุกข์มันเกิดขึ้นได้ แต่เราต้องไม่ยอมทุกข์ ความสำเร็จ ร่ำรวย ยากจน เหมือนสุขภาพธุรกิจ เจ็บป่วยได้ เป็นไข้ได้ หรือดับไปเลยก็ได้ เป็นปกติธรรมชาติ (ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็เป็นทุกข์อะไรประมาณนั้น)


"ชีวิตผมมาจาก 10 บาท (เป็นเด็กรับใช้ในบ้านเจ้าสัวเกียรติ วัธนเวคิน) มาถึงตรงนี้(พันล้าน)ได้ก็ถือว่ามาไกลแล้ว แต่ยังไม่ถึงฝัน เพราะ 20 กว่าปีก่อนคิดใหญ่กว่านี้มาก อยากทำดิสนีย์แลนด์เมืองไทย ทุกวันนี้ก็ไม่เคยหยุดฝัน ผมมีโปรเจคในหัวสมองเยอะแยะ แต่บังเอิญว่าทุนทรัพย์ไม่พร้อมก็ต้องเก็บฝันไว้"


ผิน ยังเล่าด้วยว่าตนเองมีภรรยา 2 คน คือ สุเนตร คิ้วคชา และ อาภา คิ้วคชา (เตชะรัตนไชย) รองประธานกรรมการ บล.แอ๊ดคินซัน (ผินและครอบครัวถือหุ้น ASL ประมาณ 15%) และมีลูกรวมกันทั้งหมด 9 คน ทุกคนอยู่ด้วยกัน ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน


คนโตสุด โสภิดา คิ้วคชา เชิดชัย (ลูกสะใภ้ สุจินดา เชิดชัย หรือ เจ๊เกียว เจ้าแม่รถทัวร์) คนที่สอง กิตติกร คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ภูเก็ตแฟนตาซี คนถัดมา อัมพรศรี คิ้วคชา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ซาฟารีเวิลด์ คนที่สี่ ธนะ คิ้วคชา ถัดมา สมหวัง คิ้วคชา ตามด้วย อำนาจ คิ้วคชา (ถือหุ้นใหญ่ ASL-SAFARI) ฤทธิ์ คิ้วคชา (กรรมการ บล.แอ๊ดคินซัน และเปิดร้านไอศกรีม Sfree) เดช คิ้วคชา และคนสุดท้อง ดวง คิ้วคชา
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ Kacha Family ทั้งหมด 12 คน อยู่รวมโขลงกันแบบพี่น้องได้อย่างไร


"ลูกผมเขารักกันเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน ไม่มีหน้าบึ้งใส่กัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพอบายมุข ทุกคนมีความพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่แย่งชิงกัน"
การเลี้ยงลูกสไตล์ผินจะยึดถือ "3 ไม่" คือ ไม่ด่า ไม่ตี ไม่โกรธ เราอยากให้ลูกมีนิสัยอย่างไร พ่อ-แม่ จะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง เพราะลูกจะตามอย่างพ่อ-แม่ 50% อีก 50% ไปเรียนรู้จากภายนอก


"ถ้าลูกทำอะไรที่ไม่ค่อยถูกต้อง ผมจะไม่พร่ำบ่น ไม่ด่า ไม่ตี จะเฉยๆ จะเก็บเอาไว้เมื่อมีโอกาสเหมาะๆ จะเรียกมาคุยกัน "ตัวต่อตัว" สอนเขาว่าที่เขาทำมันไม่ถูกต้องอย่างไร ตอนนี้แหละคำพูดของพ่อจะมีคุณค่ามาก เขารู้ว่าเราไม่ได้ใช้อารมณ์ ส่วนเรื่องการใช้เงิน ลูกทุกคนมีเครดิตการ์ดใช้ รูดได้ไม่ห้าม แต่เขาจะต้องรู้ด้วยตนเองว่าอะไรควรใช้อะไรไม่ควรใช้ ผิดถูกให้เขารู้(สำนึก)ด้วยตัวเอง คือ สอนให้เขาคิดเองเป็น"


นอกจากทรัพย์สินที่ซาฟารีเวิลด์ และภูเก็ตแฟนตาซีแล้ว ผินยังเป็นเจ้าของบางกอกฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงปลาคาร์ฟใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นราชาที่ดินคนหนึ่งของเมืองไทย ปัจจุบันผินครอบครองที่ดินส่วนตัว 5-6 แห่ง รวมประมาณ 1.2-1.3 หมื่นไร่ อยู่ในจ.เชียงใหม่ ภูเก็ต โดยมีที่ดินผืนใหญ่ที่สุดอยู่ที่จ.ปราจีนบุรีกว่า 1 หมื่นไร่


หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธุรกิจรายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น: